หลาย ๆ คนอาจไม่เคยมีประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์มาก่อนเลย และเพิ่งเริ่มมีความสนใจในเรื่องนี้ จึงทำให้รู้สึกเป็นกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย หรือฉีดไปแล้วจะส่งผลเสียระยะยาวต่อร่างกายหรือเปล่า นอกจากนั้นแล้วบางคนก็กังวลเรื่องของผลลัพธ์ที่จะออกมา ด้วยปัญหาคาใจเหล่านี้ หมอจึงขอรวบรวมประเด็นที่คุณควรต้องรู้เกี่ยวกับฟิลเลอร์มาบอก จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
ฟิลเลอร์คืออะไร ?
Filler หรือ ฟิลเลอร์ แปลตรงตัวได้ว่า “สารเติมเต็ม” นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นสารสังเคราะห์ทางเคมี หรือสารที่มีตามธรรมชาติอย่างไขมันของเราเอง ที่สามารถนำมาเติมเข้าสู่ร่างกายเพื่อจุดประสงค์ในการเติมเต็มให้กับผิว เราสามารถเรียกว่าฟิลเลอร์ได้ทั้งนั้น
แต่สำหรับสารมาตรฐานที่ใช้สำหรับการเติมเต็มผิว ณ ปัจจุบัน คือสารที่เรียกว่า “ไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid : HA)” ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยกักเก็บน้ำและคืนความชุ่มชื้นให้กับผิว
สารชนิดนี้มีโมเลกุลที่ใกล้เคียงหรือคล้ายกับสารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ จึงสามารถนำเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างภายในร่างกาย
การฉีดฟิลเลอร์ช่วยอะไรได้บ้าง ?
กระบวนการฉีดฟิลเลอร์ คือ กระบวนการฉีดสารเติมเต็มเสริมเข้าไปที่ชั้นผิวหนัง เพื่อให้ผิวหนังเกิดความยืดหยุ่น ผิวหน้าเต่งตึง ร่องลึกบนใบหน้าดูตื้นขึ้น และคืนความอ่อนเยาว์ให้ใบหน้าในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นหากจะสรุปถึงประโยชน์ของการฉีดก็พอจะสรุปได้ดังนี้
- ช่วยลดริ้วรอยและร่องลึก ทำให้รอยหมองคล้ำดูจางลง
- ช่วยในการเติมเต็มใบหน้า ทำให้ผิวหน้าดูเต่งตึง เรียบเนียน และมีน้ำมีนวลมากขึ้น
- ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ไม่แห้งกร้าน
- ช่วยปรับรูปหน้าให้กลับมาเข้ารูป ดูดีอย่างเป็นธรรมชาติ
ฟิลเลอร์มีกี่ประเภท ?
ด้วยเพราะปัจจุบันการฉีดฟิลเลอร์คือสิ่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากของคนที่ใส่ใจในการดูแลตนเอง จึงทำให้มีการนำสารหลายรูปแบบเข้ามาใช้ในกระบวนการนี้
ซึ่งมีทั้งแบบที่ปลอดภัยมาก ค่อนข้างปลอดภัย และอันตรายดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ถึงประเภทของฟิลเลอร์เพื่อที่จะได้เลือกประเภทได้เหมาะสมถูกต้อง
ซึ่งการแบ่งประเภท Filler ก็จะแบ่งหลัก ๆ ได้ออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
-
แบบชั่วคราว (Temporary Filler)
ฟิลเลอร์ชนิดนี้ก็คือไฮยาลูรอนิค แอซิด (HA) ถือว่าเป็นชนิดที่มีความปลอดภัยสูง ด้วยลักษณะโมเลกุลคล้ายหรือใกล้เคียงกับสารธรรมชาติในร่างกายของเรามากที่สุด ทำให้โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้นั้นมีน้อยมาก หรือเรียกได้ว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ก็ว่าได้
โดยชนิดนี้ฉีด 1 ครั้งจะอยู่ได้นาน 6-24 เดือน ขึ้นกับยี่ห้อและรุ่นของฟิลเลอร์ที่เลือกใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละบริเวณที่ฉีด และสามารถจะสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ
-
แบบกึ่งถาวร (Semi-Permanent Filler)
สารชนิดนี้ก็คือ สารแคลเซียมไฮดรอกซิลอะพาไทต์ (Calcium Hydroxylapatite : CaHA) สารในกลุ่มนี้สามารถเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อร่างกายของเรา ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ
โดยมีการใช้สารกลุ่มนี้ในต่างประเทศ แต่สารในกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เพื่อการรักษาในประเทศไทย เนื่องจากสารชนิดนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดอาการแพ้ได้ จึงจัดได้ว่าเป็นชนิดที่ค่อนข้างปลอดภัยเท่านั้น
-
แบบถาวร (Permanent Filler)
ชนิดนี้จะเป็นสารประเภทซิลิโคนเหลวหรือน้ำมันพาราฟิน ทำให้ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ แพทย์จึงไม่แนะนำให้ฉีดเพราะถือว่าเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดการอักเสบและเป็นอันตรายต่อผู้ฉีดได้
ฟิลเลอร์ฉีดในตำแหน่งใดบ้าง ?
การฉีดฟิลเลอร์นั้นฉีดได้หลายตำแหน่งบนใบหน้า ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็จะให้ผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- หน้าผาก ช่วยปรับรูปหน้าให้ดูดีมีสัดส่วนมากขึ้น
- ขมับ ช่วยปรับรูปหน้า ลดความเด่นของโหนกแก้มลงไป ทำให้ใบหน้าโดยรวมมีสัดส่วนที่เหมาะสมมากขึ้น
- ใต้ตา ช่วยลดปัญหาเรื่องริ้วรอยใต้ตา ช่วยทำให้ใบหน้าแลดูสดใสมากขึ้น
- แก้มส้ม ช่วยปรับรูปหน้าให้มีมิติและได้สัดส่วน อีกทั้งยังทำให้ร่องใต้ตาและร่องแก้มดูตื้นขึ้น
- แก้มตอบ ช่วยปรับรูปหน้าให้เข้ารูป ดูมีสัดส่วน ลดความเด่นของโหนกแก้ม
- ร่องแก้ม ช่วยลดริ้วรอยลึก ทำให้ร่องแกมตื้นขึ้น ทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์มากขึ้น
- ปาก ช่วยให้ปากมีรูปทรงที่สวยขึ้น และดูชุ่มชื้นอวบอิ่มมากขึ้น
- คาง ช่วยปรับหน้าให้ดูเรียวมากขึ้น เป็นการปรับรูปหน้าให้ดูดีอีกแบบหนึ่ง
- ร่องน้ำหมาก ช่วยลดริ้วรอยลึกบริเวณมุมปาก ทำให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์มากขึ้น
- จมูก ช่วยปรับแก้ไขรูปจมูกให้ดูสวยขึ้น ทำให้ใบหน้าดูมีสัดส่วนที่ลงตัวมากขึ้น
- กรอบหน้า ช่วยปรับกรอบหน้าให้ดูคมชัด ได้รูปและมีมิติมากยิ่งขึ้น
ก่อนฉีดฟิลเลอร์ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนฉีด 24 ชั่วโมงหรือจะให้ดีควรงดอย่างน้อย 3 วันก่อนเข้ารับการฉีด เนื่องจากแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้เกิดอาการช้ำได้ง่ายหลังจากทำการฉีด
- เลี่ยงการรับประทานยาบางชนิดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนฉีด อย่างเช่น ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม NSAIDs ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และแอสไพริน (Aspirin) เป็นต้น รวมไปถึงอาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันตับปลา แปะก๊วย โสม ก็ควรเลี่ยงเช่นกัน
- การเข้าไปปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการฉีด ควรแจ้งถึงโรคประจำตัวหรือยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้แพทย์ทราบด้วย (ถ้ามี)
- เลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มสูง เพราะอาหารที่มีความเค็มมีโอกาสจะทำให้เกิดภาวะน้ำคั่ง ทำให้หลังการฉีดเกิดอาการบวมบริเวณที่ฉีดได้
- งดกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายหนัก ๆ และพยายามทำใจให้สบาย ไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไป
- ก่อนรับบริการจากที่ใดควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคลินิกหรือสถานบริการที่คุณสนใจ และให้เลือกสถานบริการที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
- การเลือกชนิดของฟิลเลอร์ที่จะทำการฉีด ควรเลือกชนิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย. ไม่ควรเลือกที่ราคาถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน จะได้มั่นใจได้ในความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
สรุป
ตอนนี้เชื่อว่าทุกคนคงพอจะได้คำตอบกันแล้วว่า การฉีดฟิลเลอร์นั้นไม่ได้อันตรายหรือมีอะไรที่น่ากังวล หากว่ากระบวนการฉีดนั้นได้รับการดูแลและให้บริการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ภายในสถานบริการที่ได้มาตรฐาน ก็รับรองได้เลยว่าปลอดภัยไร้กังวล ส่วนผลลัพธ์นั้นก็ขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทชนิดของสารและยี่ห้อฟิลเลอร์ที่จะฉีดเข้าไปด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยรวม ๆ แล้วถือว่าคุ้มค่าและให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจอย่างแน่นอน